กระแสต่อต้าน FSG หรือ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป แรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ ลิเวอร์พูล ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ด้วยการแพ้คาบ้านต่อ ลีดส์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์ 1-2 ในขณะที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ ก็ออกมารับสภาพว่า เขาพยายามอย่างดีที่สุดแล้วกับการใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ ณ เวลานี้
หงส์แดง สร้างผลงานอันน่าผิดหวังด้วยการแพ้ให้กับทีมบ๊วยอย่าง น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ และต่อเนื่องด้วยการพ่ายรองบ๊วยอย่าง ยูงทอง ทั้ง ๆ ที่ทั้ง 2 ทีมไม่ชนะคู่แข่งรวมกันเกือบ 20 นัดก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเป็นในสถานการณ์ปกติเด็ก ๆ ของ คล็อปป์ น่าจะเก็บ 6 คะแนนเต็มได้แบบสบายเท้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เดอะค็อป และแฟนบอลทั่วโลกไม่ใช่เรื่องธรรมดา ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่านี่คือ “วิกฤติขั้นสุด” ที่ทีมจากเมอร์ซียไซด์กำลังเผชิญ
เยอร์เก้น คล็อปป์ เป็นคนแรกที่โดนต่อว่า จากเรื่องของแท็คติก การจัดตัวผู้เล่น ซึ่งแม้จะมีอย่างจำกัดแต่ก็มิวายที่เขาจะต้องมารับผิดชอบต่อผลการแข่งขันที่รับไม่ได้เช่นนี้ เรียกได้ว่ามากันเป็นพายุบุแคมเลยทีเดียว
แต่ในวันรุ่งขึ้น พายุที่กระหน่ำผู้จัดการทีมวัย 55 ปีก็ก่อตัวรุนแรงยิ่งขึ้น และมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายต่อไปซึ่งก็คือ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี หัวเรือใหญ่ของ FSG หรือ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป เจ้าของสโมสรนั่นเอง
แคมเปญ FSGOUT จึงฮิตติดเทรนด์ทันทีพร้อมกับข้อกล่าวหาที่ว่า เจ้าของทีมไม่มีการลงทุนมากพอในการเสริมทัพเมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เกิดปัญหานักเตะได้รับบาดเจ็บล้นทีม โดยเฉพาะแข้งแดนกลาง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลงานของ ลิเวอร์พูล ในฤดูกาลนี้ตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเพิ่งจะคว้าดับเบิ้ลแชมป์บอลถ้วยจากการมีลุ้นถึง 4 แชมป์เมื่อฤดูกาลที่แล้วมาหมาด ๆ
ย้อนกลับไปซัมเมอร์ที่ผ่านมา แม้ว่า คล็อปป์ และทีมงานจะจัดการปิดจ็อบคว้าตัว ดาร์วิน นูนเญซ เป็นสถิติสโมสร รวมทั้งได้ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ และ คาลวิน แรมซีย์ อะไหล่ชั้นดีของ เทรนท์ อาร์โนลด์ มาร่วมทีมได้ตั้งแต่ช่วงต้นของตลาด แต่พวกเขากลับไม่ใช้เวลาที่เหลืออยู่อีกเป็นเดือนในการมองหากองกลางคนใหม่เพื่อแก้ปัญหานักเตะบาดเจ็บในช่วงต้นฤดูกาล
มันจึงนำมาซึ่งผลงานอันย่ำแย่ด้วยการเก็บได้เพียง 2 คะแนนจาก 3 นัดแรก โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ต่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เคยโดนพวกเขาถลุงแบบไป-กลับมาแล้ว 9 ประตูเมื่อซีซันก่อน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ เดอะค็อป รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง
แม้จะกลับมากู้ชื่อด้วยการถล่ม บอร์นมัธ 9-0 ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งแรกของฤดูกาล แต่หลังจากนั้นใน 8 เกมหลังสุดพวกเขาก็เก็บชัยชนะได้เพียง 3 นัด เสมอ 2 นัดและแพ้ไปอีก 3 นัด เก็บแต้มได้น้อยที่สุดในยุคของ เยอร์เก้น คล็อปป์ และเป็นสถิติเดียวกับซีซัน 2010-2011 ซึ่งเป็นยุคตกต่ำยุคหนึ่งของทีม
ความพ่ายแพ้ต่อ ลีดส์ จึงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างระเบิดขึ้นมา ทั้งเรื่องการขาดความมั่นใจภายในทีม ความคับข้องใจของกองเชียร์ และการเริ่มหมดความอดทนของบรรดาสาวก หงส์แดง ซึ่งไม่ใช่แค่ในอังกฤษแต่เป็นจากทั่วโลก
และ FSG ก็ต้องยอมรับกับอารมณ์อันคุกรุ่นเช่นนี้…
อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แคมเปญ FSGOUT เกิดขึ้น แฟนบอลเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องความทะเยอทะยานของพวกเขามาแล้ว ตั้งแต่ตลาดหน้าหนาวของปี 2021 ที่ดึงเอา เบน เดวิส แข้งโนเนมจาก เปรสตัน และยืม โอซาน คาบัค มาใช้งานชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาแนวรับ รวมทั้งในช่วงซัมเมอร์ในปีเดียวกันหลังจากที่คว้า อิบราฮิมา โคนาเต้ มาร่วมทีมเพียงรายเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ จอห์น เฮนรี ถูกตั้งข้อสงสัยมาอย่างต่อเนื่อง
หากมองในภาพใหญ่ กลุ่มทุนของอเมริกาก็ไม่ใช่เจ้าของทีมที่แย่ขนาดนั้น ตรงกันข้าม FSG ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับ ลิเวอร์พูล อย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสนามโดยเพิ่มความจุที่นั่งจาก 4 หมื่นกลายเป็น 5 หมื่นกว่า ซึ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของ พรีเมียร์ลีก และการทุ่มเงินมากกว่า 50 ล้านปอนด์ในการเนรมิต แอกซา เทรนนิง เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกซ้อมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป แทนที่ เมลวู้ด ที่ใช้มานานหลายสิบปี
ไหนจะการดีลกับสปอนเซอร์ต่าง ๆ และสร้างรายได้ให้แก่สโมสร จนตอนนี้ ลิเวอร์พูล กลายเป็นสโมสรที่มีมูลค่าการตลาดติดท็อปไฟว์ของโลกไปแล้ว
หากแต่ในโลกของฟุตบอล เรื่องตลาดซื้อขายคือสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดผลงานของทีม ไม่ใช่การบริหารงานนอกสนามเพียงอย่างเดียว
ลิเวอร์พูล เป็นทีมที่มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 3.5 พันล้านปอนด์จากการสำรวจล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี แต่พวกเขากลับเป็นทีมที่ลงทุนในตลาดซื้อขายเมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาน้อยมาก ใช้เงินไปไม่ถึง 100 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำ ในขณะที่ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ยอมผลาญเงินไปกว่า 140 ล้านปอนด์เพียงเพื่อความต้องการหนีรอดตกชั้น
ในสายตาของแฟนบอลมองว่า FSG เข้มงวดเรื่องการลงทุนในสนามมากเกินไป พวกเขาดำเนินนโยบายซื้อมาขายไปแบบเน้นกำไรเป็นสำคัญ รวมทั้งการกำหนดเพดานเงินเดือนที่ชัดเจน แต่ลืมมองไปที่โครงสร้างโดยรวมของนักเตะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งท้ายที่สุดนำมาซึ่งปัญหาการขาดผู้เล่นที่จะเข้ามาสานต่อความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน
ดังนั้น กระแส FSGOUT จึงอาจจะทำให้พวกเขาต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายในตลาดซื้อขายกันใหม่อีกครั้ง และลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเดือนมกราคม เพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้ต้องการเพียงเพื่อแสวงหากำไรจากสโมสรเพื่อต่อยอดทางธุรกิจของตัวเองเท่านั้น
และอาจเป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะสามารถเรียกศรัทธากลับคืนมา…